วัยทองในผู้ชาย (Male Menopause) อาการ สาเหตุ และวิธีรับมือ

วัยทองในผู้ชาย มีสาเหตุหลักจากการลดลงของ ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อจิตใจ ตลอดจนการดำเนินชีวิตหากไม่สามารถปรับตัวได้

อ่านตามหัวข้อ

เมื่อผู้ชายเข้าสู่วัยทอง (Male Menopause) ในช่วงอายุ 45-50 ปี จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลดลงของฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งโดยปกติฮอร์โมนนี้จะค่อย ๆ ลดลงประมาณ 1-2% ต่อปี ตั้งแต่ปลายอายุ 30 ปีขึ้นไป

อาการผู้ชายวัยทอง

ด้านจิตใจ

  • มีความเครียด ความวิตกกังวลเป็นประจำ
  • ซึมเศร้า ห่อเหี่ยว ไม่สดชื่น
  • หงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย ขี้โมโห อารมณ์แปรปรวน
  • ลืมง่าย ขาดสมาธิ หรือสมาธิลดลง

ด้านร่างกาย

  • ภาวะมีบุตรยาก ความต้องการทางเพศลดลง จำนวนสเปิร์มลดลง
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เมื่อยล้า
  • ปวดศีรษะ หรือเวียนศีรษะ
  • นอนไม่หลับ เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • อาการร้อนวูบวาบ หนาว ๆ ร้อน ๆ คล้ายจะเป็นไข้
  • กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายฝ่อลีบ
  • กระดูกเปาะบาง โรคกระดูกพรุน
  • ใจสั่น หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของวัยทองในผู้ชาย

การเข้าสู่วัยทองในผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ปัญหาทางจิตเวช ภาวะซึมเศร้า ความเครียด ความวิตกกังวล หรือปัญหาเกี่ยวกับความจำ ระดับคอเลสเตอรอลสูง น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภทน้ำตาล และไขมันมากเกินไป

วิธีแก้อาการวัยทอง

ในการรับมือวัยทองสำหรับผู้ชาย สำคัญที่สุด คือการเปิดใจยอมรับ และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลี่ยงอาหารรสหวาน เน้นทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างฮอร์โมนเพศชาย เช่น ไข่แดง อโวคาโด กระเทียม ผักใบเขียว ถั่ว แตงโม หรือหอยนางรม

ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-4 วัน/สัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที โดยเน้นกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ อย่าลืมให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิต สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือหางานอดิเรกใหม่ ๆ จะช่วยลดความเหงาและเพิ่มความสุขในชีวิต

ข้อสรุปสำคัญ

การดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ แม้อายุน้อยก็มีความเสี่ยงที่จะเจอภาวะวัยทองก่อนวัยอันควรได้ โดยปัจจัยเสริมที่ทำให้เข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ คือ กรรมพันธุ์ การทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ความเครียด โรคอ้วน การขาดสารอาหารบางชนิด การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง การกินยาบางชนิด หรือแม้แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินและเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น