เตรียมพร้อมรับมือ เมื่อต้องเผชิญ น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ราบลุ่มใกล้ภูเขาต้นน้ำ เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

อ่านตามหัวข้อ

น้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลัน เกิดขึ้นในพื้นที่ราบต่ำ ที่ราบระหว่างหุบเขา หรือที่ราบลุ่มบริเวณใกล้ภูเขาต้นน้ำ เนื่องจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความชันมาก หรือเหนือภูเขา และมีคุณสมบัติในการกักเก็บหรือการต้านน้ำน้อย เพราะพื้นที่ป่าถูกทำลายไป ทำให้จำนวนน้ำสะสมมีปริมาณมากจนพื้นดิน และต้นไม้ดูดซับไม่ไหว ไหลบ่าลงสู่ที่ราบต่ำเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว มักเกิดขึ้นหลังจากฝนตกหนักไม่เกิน 6 ชั่วโมง หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำพังทลาย

ท่วมฉับพลันมีความรุนแรงและเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมาก มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงระดับหนึ่ง โอกาสที่จะป้องกันและหลบหนีจึงมีน้อย ดังนั้นความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันจึงสร้างความเสียหายทั้งต่อทรัพย์สิน ทำให้บ้านเรือนเสียหาย และอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

วิธีการรับมือจาก น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก

ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น คำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวสภาพอากาศ เช็คข่าวสารในโซเชียลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ หมั่นสังเกตระดับน้ำ และความผิดปกติ เช่น ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น สีของน้ำขุ่นเหมือนสีดิน หากปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ยกของใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านขึ้นที่สูง ถ้าติดอยู่ในป่าหรือถ้ำให้หนีขึ้นที่สูง ไม่ควรหนีขึ้นบนต้นไม้ เพราะต้นไม้อาจโดนกระแสน้ำพัดได้

เตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอด หากต้องมีการอพยพไปในสถานที่ปลอดภัย เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น วางไว้บริเวณที่สามารถหยิบได้ทันที ตัดสะพานไฟภายในบ้าน ป้องกันปัญหาไฟช็อต และกระแสไฟฟ้ารั่ว รวมถึงปิดแก๊สหุงต้ม งดสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด เพิ่มความระมัดระวังเมื่อมีเหตุน้ำท่วม โดยเฉพาะการจมน้ำ เชื้อโรคที่มากับน้ำ สัตว์มีพิษ เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ อย่าเปิดประตูหน้าต่างเพราะเสี่ยงที่สัตว์พวกนี้จะเข้ามา

อุปกรณ์จำเป็น

ชุดยาปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ยาโรคประจำตัว และยาสามัญประจำบ้าน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

ไฟฉายขนาดพกพา

จำเป็นมากในเวลากลางคืน หรือพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงแล้วถูกตัดไฟ

แบตสำรอง

เพื่อชาร์จแบตมือถือให้เต็มตลอดเวลา สำหรับสถานการณ์ที่ต้องขอความช่วยเหลือ

ยากันยุง

เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งมักจะมียุงที่มาพร้อมน้ำท่วม รวมไปถึงยาฆ่าแมลง

เครื่องอุปโภคบริโภค

อาหารแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม หากติดอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมหลายวัน

อื่น ๆ

ถ่านไฟฉาย เทียนไข นกหวีด พร้อมนำเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร เป็นต้น

ข้อสรุปสำคัญ

ควรจัดเตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ยางในรถยนต์ แกลลอนน้ำ ขวดน้ำ พลาสติก ลูกมะพร้าว เป็นต้น สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม รวมถึงสังเกตสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ป่าต้นน้ำมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน สัตว์ป่าแตกตื่น มีเสียงดังอื้ออึงจากป่าต้นน้ำ มด แมลง ปลวกอพยพจำนวนมาก ท้ายที่สุด การเรียนรู้วิธีการเตรียมพร้อมรับมือดังกล่าว จะช่วยลดผลกระทบ และรอดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้อย่างปลอดภัย