“โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์” ควรกังวลไหม? ข้อมูลที่เหล่าแม่ ๆ ต้องรู้!

“เบาหวานขณะตั้งครรภ์” เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และทารก มาดูสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง การวินิจฉัย และการรักษาโรคในบทความนี้

อ่านตามหัวข้อ

การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับทุกครอบครัว โดยเฉพาะบทบาทใหม่ของการเป็นแม่ ที่นอกจากความสุขและความตื่นเต้นแล้ว ยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านสุขภาพหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิต น้ำหนัก และโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ Gestational Diabetes Mellitus: GDM ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแม่และทารกได้

สาเหตุ

เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ หรือไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ร่างกายผลิตขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์

ปัจจัยเสี่ยง

  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 25 ปี
  • มีน้ำหนักตัวเกินก่อนการตั้งครรภ์
  • เคยมีปัญหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครั้งก่อน หรือมีประวัติเบาหวานในครอบครัว
  • การตั้งครรภ์แฝด
  • มีประวัติการคลอดทารกที่มีน้ำหนักเกิน 4,000 กรัม
  • ความดันโลหิตสูงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์
  • เกิดภาวะที่ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ

ผลกระทบ

ต่อแม่

  • ความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นเบาหวานประเภท 2 ในภายหลัง
  • ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาระหว่างคลอด เช่น ภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) ซึ่งอาจทำให้คลอดยาก หรือต้องทำการผ่าคลอดทางหน้าท้อง (Cesarean section)
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์

ต่อทารก

  • ทารกในครรภ์มีน้ำหนักมาก ทำให้การคลอดยากและมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บขณะคลอด
  • ทารกจากแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานภายหลัง
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอด
  • ทารกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจทันทีหลังคลอด เช่น กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (respiratory distress syndrome)
  • อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ทันทีหลังคลอด และต้องได้รับการรักษาเพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือด

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus: GDM) ทำผ่านการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • การตรวจน้ำตาลเบื้องต้น
    • ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดมีค่าสูงกว่าที่กำหนด (เช่น 130-140 mg/dL หรือตามมาตรฐานของโรงพยาบาล) จะต้องผ่านการตรวจ การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย
  • การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล ของร่างกาย (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)
    • งดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงและเตรียมตัวสำหรับการทดสอบน้ำตาล
    • เริ่มด้วยการวัดระดับน้ำตาลเบื้องต้น
    • ดื่มสารละลายกลูโคส 100 กรัม
    • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ 1 ชั่วโมง ภายใน 3 ชั่วโมง
    • หากผลตรวจสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไปหรือสูงกว่าค่าปกติตามมาตรฐานของโรงพยาบาล จะถือว่าภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ระดับน้ำตาลในเลือดที่ถือว่าผิดปกติขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละแห่ง แต่ทั่วไปแล้ว การตรวจ OGTT จะใช้ค่าดังต่อไปนี้เป็นตัวชี้วัด
ระดับน้ำตาลเบื้องต้น 95 mg/dL หรือมากกว่า
ระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง 180 mg/dL หรือมากกว่า
ระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง 155 mg/dL หรือมากกว่า
ระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง 140 mg/dL หรือมากกว่า

การรักษา

  • การควบคุมอาหาร
    • ทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้ง เช่น 3 มื้อหลักและ 2-3 มื้อว่าง
    • แนะนำให้ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ และข้าวโพด
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ขนมหวาน
    • เน้นอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ เต้าหู้
    • หลีกเลี่ยงการทานไขมันที่ไม่ดี เช่น ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว
    • ควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว เส้น แป้ง
    • ควรดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น
  • การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ ปรับการทานอาหารและการใช้ยาตามระดับน้ำตาลในเลือด
  • ยาและการฉีดอินซูลิน ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการทานอาหารและการออกกำลังกาย แพทย์อาจแนะนำการใช้ยาหรือฉีดอินซูลิน สำหรับผู้ที่ต้องใช้อินซูลิน ต้องเรียนรู้วิธีการฉีดและการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

ท้ายที่สุด

ในการป้องกันควรทราบถึงปัจจัยเสี่ยง รวมถึงการรักษาและป้องกันภาวะอ้วน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย ที่สำคัญ จะต้องคอยตรวจสอบและดูแลรักษาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์ ทั้งหมดนี้สามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้